วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มหัศจรรย์น้ำมันมะพร้าว





น้ำมันมะพร้าวสารพัดประโยชน์    
    น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ สกัดเย็น คือน้ำมันที่ผลิตจากกระบวนการหมักกะทิ และการบีบมะพร้าวที่ขูดหรือตากหรืออบให้ความชื้นลดลงแล้วบีบด้วยเครื่อง หลังจากนั้นก็นำไปกรองและระเหยน้ำอีกครั้ง โดยจะไม่ผ่านความร้อนสูง (ไม่เกิน 65 องศาเซลเซียส) และไม่ผ่านกระบวนการทางเคมี น้ำมันที่สกัดได้จะใสเหมือนน้ำ ไม่มีสี อาจมีกลิ่นมะพร้าวได้อ่อนๆ น้ำมันจึงอุดมไปด้วยวิตามีนอี ชนิดที่ดี ซึ่งจะต่างกับน้ำมันมะพร้าว ที่เราเคยใช้กันเป็นที่รู้จัก ซึ่งผ่านความร้อนสูงในการผลิต มีการฟอกสี และผ่านกระบวนการทางเคมี และที่สำคัญในน้ำมันมะพร้าวมีกรดคลอลิกอยู่ประมาณ 54.61% ซึ่งทำให้น้ำมันมะพร้าวดีเด่นกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ เพราะมีความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยหลังจากที่บริโภคน้ำมันมะพร้าวเข้าไปในร่างกาย กรดคลอลิคในน้ำมันมะพร้าวจะเปลี่ยนเป็นโมโนกลีเซอไรด์ทีที่มีชื่อว่า โมโนลอริน ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกับที่อยู่ในน้ำนมมารดา ที่จะคอยสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกในระยะ 6 เดือนแรกที่ร่างกายยังไม่สร้างระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งสารตัวนี้เป็นสารปฏิชีวนะที่สามารถทำลายเชื้อโรคทุกชนิด ที่ดีกว่ายาปฏิชีวนะที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ โปรโตซัว และไวรัส รวมทั้งเชื่อที่ก่อให้เกิดหลอดเลือดแข็งตัวอีกด้วย

ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว
     
1. การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
จากบทบาททางสรีรวิทยาของน้ำมันมะพร้าวที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้ผู้บริโภคน้ำมันมะพร้าวมีสุขภาพดี แข็งแรง เพราะได้พลังงานทันทีที่บริโภคน้ำมันมะพร้าว นอกจากนั้น น้ำมันมะพร้าวยังมีคุณทางอาหาร โดยเฉพาะวิตามิน และเกลือแร่ ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มคุณค่าของอาหารโดยการเพิ่มการดูดวิตามิน เกลือแร่ และกรดอะมิโน เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก จึงถูกย่อยง่าย และเคลื่อนที่เร็วไปตามของเหลวในร่างกาย จึงเป็นที่นิยมใช้หุงต้มอาหารสำหรับคนไข้ที่มีปัญหาการย่อยไขมัน และยังใช้ในสูตรน้ำนม เพื่อให้ไขมันที่จำเป็นแก่เด็กทารก และช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนากระดูก
2. ช่วยให้ปลอดจากโรคไม่ติดเชื้อ
โรคไม่ติดเชื้อที่ น้ำมันมะพร้าวมีส่วนในการลดอัตราการเกิด ได้แก่
     2.1 โรคหัวใจ : จากผลการวิเคราะห์พบว่า น้ำมันมะพร้าวมีคอเลสเตอรอล 0% ซึ่งน้อยกว่าน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งมี 28 ส่วน และที่สำคัญคือ เมื่อบริโภคน้ำมันมะพร้าวเข้าไป ในร่างกาย ก็ไม่ได้เปลี่ยนเป็นคอเลสเตอรอลในกระแสโลหิต อีกทั้งยังไม่ได้ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวเหมือนกับน้ำมันพืชประเภทไม่อิ่มตัว เช่นน้ำมันถั่วเหลืองที่ถูกเติมไฮโดรเจน (hydrogenate) ในขบวนการผลิต และถูกเติมออกซิเจน (oxidize) ระหว่างเดินทางก่อนถูกบริโภค จนเกิดเป็นtrans fatty acids ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดลิ่มเลือด และไปอุดตันหลอดเลือด นอกจากนั้นน้ำมันมะพร้าวยังมีวิตามินอีที่ช่วยขยายหลอดเลือดและป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ นักโภชนาการสมัยใหม่จึงสรุปว่า น้ำมันมะพร้าวช่วยทำให้หัวใจมีสุขภาพดี เพราะเป็นหนึ่งในสองชนิดของน้ำมันบริโภค ซึ่งช่วยลดความหนืด (stickiness) ของเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ 



     2.2 โรคมะเร็ง : น้ำมันมะพร้าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็ง ด้วยกลไก 2 วิธี คือ
     (1) เนื่องจากเป็นน้ำมันประเภทอิ่มตัวจึงไม่ถูกเติมไฮโดรเจน (hydrogenate) และแตกตัวเมื่อถูกกับอุณหภูมิสูง
     (2) มีวิตามินอีช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของการกลายพันธุ์ของยีน เกิดเป็นเซลล์มะเร็ง และการทำร้ายเซลล์ การใช้น้ำมันมะพร้าวชโลมตัว ก็ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังได้ดีกว่ายาทากันแดดราคาแพง


 
     2.3 โรคอ้วน : โรคอ้วนนั้นมีความสัมพันธ์กับสภาพต่าง ๆ เช่น การมีไขมันในเลือดสูงเป็นโรคเบาหวานมีความดันโลหิตสูง เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนโรคข้ออักเสบ ภาวะหยุดหายใจ ขณะหลับ ฯลฯ การบริโภคน้ำมันมะพร้าวจะช่วยทำให้ร่างกายเกิดความร้อนสูง (ในขบวนการ thermogenesis) ทำให้ร่างกายมีอัตราการเผาผลาญอาหาร หรือเมตาบอลิซึม (metabolism) สูงเกิดเป็นพลังงานสำหรับใช้ในการดำรงชีวิต อีกทั้งยังช่วยทำลายไขมันที่ร่างกายสะสมอยู่ นำไปใช้เป็นพลังงาน ดังนั้น ผู้บริโภคน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำจึงไม่อ้วน

 


    2.4 โรคเบาหวาน : ผลพลอยได้ของการเพิ่มอัตราการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงานจากการบริโภคน้ำมันมะพร้าวทำให้ร่างกายไม่สะสมน้ำตาล เพราะถูกใช้ไปเป็นพลังงานหมด อีกทั้งยังไม่ทำให้ผู้ป่วยอยากรับประทานอาหารที่เป็นแป้งหรือน้ำตาล จึงช่วยลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานไปได้โดยปริยาย


     2.5 โรคปวดเมื่อย โรคชราภาพก่อนวัย โรคมะเร็งผิวหนัง และโรคกระดูก : น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันที่ถูกดูดซึมเข้าทางผิวหนังได้ดี เพราะมีขนาดของโมเลกุลเล็กจึงนิยมใช้นวดตัวให้หายปวดเมื่อย และผ่อนคลายความเครียด อีกทั้งยังปกป้องการทำลายของแสงอัลตราไวโอเลตที่ทำให้ผิวหนังเ***่ยวย่นแก่ก่อนวัย และเป็นมะเร็งผิวหนัง ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของกระดูกให้แข็งแรง แพทย์แผนไทยจึงนิยมนำน้ำมันมะพร้าว มาประกอบเป็นสูตรยาแผนโบราณในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับกระดูก อันเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุ


3. ช่วยให้ร่างกายปลอดจากโรคติดเชื้อ

     จุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อโรคเป็นสาเหตุของโรคของมนุษย์มากมายเหลือคณานับ แต่ก็แปลกที่เด็กทารกแรกคลอดที่ดูดน้ำนมมารดาเป็นประจำมักไม่ค่อยเป็นโรคเหล่านี้ ทั้งนี้ก็เพราะมีภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากน้ำนมมารดา ได้มีการค้นพบว่าสารสำคัญในนมน้ำเหลือง (cholostum) ของมารดานี้ คือ กรดลอริก ซึ่งเมื่อเข้าไป ในร่างกายก็เปลี่ยนไปเป็นสารโมโนลอริน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารปฏิชีวนะนั่นเอง ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวพบว่ามีกรดลอริกสูงมากถึง 48-53% ซึ่งมากกว่าในน้ำนมมารดามาก ในปัจจุบันวงการแพทย์สมัยใหม่ได้แนะนำให้ประชาชนกินยาเม็ดที่มีโมโนลอรินเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันโรค


4. การรักษาโรค

     จากการที่น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อ และสามารถถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้ดี และรวดเร็ว ตำราอายุรเวทของอินเดียจึงได้ใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคมาไม่ต่ำกว่า 4,000 ปี แพทย์แผนไทยก็ได้ใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคทั้งภายในและภายนอกมาเป็นเวลาช้านาน เช่น ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาได้ใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นยานวดแก้ปวดเมื่อย ยารักษาโรคกระดูก ยารักษาแผลเน่าเปื่อย ส่วนตำราแพทย์แผนไทยในปัจจุบันก็แนะนำให้ใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคกระดูกที่เกิดจากอุบัติเหตุ รักษา เม็ดผดผื่นคัน ลบริ้วรอย แผลฟกช้ำ ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ และป้องกันแสงแดด และความร้อน แม้กระทั่งแพทย์แผนปัจจุบันชาวตะวันตก ก็ให้คนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหารหรือการดูดซึมอาหาร เด็กทารกรวมทั้งเด็กเล็กที่ไม่สามารถย่อยไขมัน กินน้ำมันมะพร้าวเป็นยารักษาโรค ศักยภาพของน้ำมันมะพร้าวในการรักษาโรคมีดังนี้
     4.1 โรคที่เกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ เชื้อโรคที่กรดลอริกในน้ำมันมะพร้าวสามารถทำลายได้ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและยีสต์ เชื้อโปรโตซัว และเชื้อไวรัส
     4.2 โรคผิวหนัง ผิวหนังที่ถูกอนุมูลอิสระเข้าทำลาย หรือจากการถูกทำร้าย จนเกิดเป็นแผลที่เชื้อโรคจะเข้าทำลายต่อโมโนลอรินในน้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นสารปฏิชีวนะจะช่วยกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้
     4.3 รังแคหนังศีรษะ น้ำมันมะพร้าวมีสารปฏิชีวนะที่ทำลายเชื้อโรคที่ทำให้เกิดรังแค หากชโลมผมด้วยน้ำมันมะพร้าวจะช่วยรักษารังแคหนังศีรษะได้
บทบาทของน้ำมันมะพร้าวต่อความงาม


1. รูปร่างได้สัดส่วน ไม่อ้วน แต่แข็งแรง

     เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวที่เราบริโภคเข้าไปสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ทันที จึงไม่มีไขมันสะสมในร่างกาย อีกทั้งยังกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานดีขึ้น จึงนำเอาไขมันที่ร่างกายสะสมไว้ก่อนหน้า ไปใช้เผาผลาญให้เกิดพลังงาน จึงช่วยลดความอ้วนได้ ดังนั้นผู้ที่บริโภคน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำจึงไม่อ้วน (เพราะไม่มีไขมันสะสม) แต่ร่างกายก็สันทัดสมส่วน และแข็งแรง

2. ผิวสวย

     2.1 ผิวดูอ่อนวัย : น้ำมันมะพร้าวที่ใช้ชโลมตัว ทั้งในรูปน้ำมันมะพร้าวสด ๆ หรือในรูปของผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าว เช่น ครีม และโลชั่นจะทำให้ผิวพรรณนุ่มไม่แตกแห้งเป็นกระ หรือฝ้า แต่ชุ่มชื้นและผิวเนียน ปราศจากริ้วรอยเหี่ยวย่น ทั้งนี้เพราะน้ำมันมะพร้าวมีวิตามินอีที่มีอานุภาพมากกว่าวิตามินอีในเครื่องสำอางช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นตัวการที่ทำให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง ป้องกันการเสื่อมโทรมของเซลล์จากขบวนการเติมออกซิเจน (Oxidation) ช่วยกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและทับถมกันจนทำให้ผิวแห้ง ขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นให้มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนที่จึงทำให้ผิวพรรณดูอ่อนกว่าวัย


     2.2 ผิวนุ่มและเนียน : ตามปกติผิวหนังจะสูญเสียความชื้นเพราะถูกแดดและลม น้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติเป็นสารรักษาความชุ่มชื้น (Moisturizer) จึงช่วยให้ผิวหนังนุ่มและเนียน

     2.3 ช่วยป้องกันและรักษาฝ้า และกระ : อนุมูลอิสระเป็นตัวการอันหนึ่งของการเกิดฝ้า และกระ วิตามินอีในน้ำมันมะพร้าวจะทำหน้าที่ทำลายอนุมูลอิสระเหล่านี้ เราสามารถใช้นำมันมะพร้าวเป็นยากันแดดได้ดีอีกทั้งยังไม่เหนียวเหนอะหนะเหมือนยากันแดดบางชนิด และราคาก็ถูกกว่า

3. ผมงาม

     เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันพืชที่มีคุณสมบัติเป็นตัวเพิ่มความชุ่มชื้น (Moisturizer) อีกทั้งยังมีสารปฏิชีวนะ (จากโมโนลอริน) และสาร antioxidant (จากสารโทโคทรินอลในวิตามินอี) จึงมีส่วนทำให้ผมงาม จากคุณสมบัติดังต่อไปนี้ :


     3.1 ช่วยปรับสภาพของผม : น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมัน hair conditioner ที่ช่วยทำให้ผมนุ่มดำเป็นเงางาม เพราะมีวิตามินอีที่ช่วยเสริมการเจริญของเส้นผม

     3.2 ช่วยรักษาสุขภาพของหนังศีรษะ : น้ำมันมะพร้าวช่วยรักษาสุขภาพของหนังศีรษะทั้งนี้ เพราะน้ำมันมะพร้าวมีสารปฏิชีวนะที่คอยทำลายเชื้อโรค หนังศีรษะจึงไม่มีรังแค และมีวิตามินอีที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ หนังศีรษะจึงไม่เหี่ยวย่นแต่มีสุขภาพดี

     3.3 ช่วยให้เส้นผมมีสุขภาพดี :  น้ำมันมะพร้าวจึงช่วยลดปริมาณการสูญเสียของเส้นผม เพราะน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติยึดเกาะ (affinity) กับโปรตีนของเส้นผมได้ดี อีกทั้งยังมีขนาดเล็กจึงแทรกซึมเข้าไปในเส้นผมได้สะดวก ในขณะที่น้ำมันทานตะวันและน้ำมันแร่ (mineral oil) ซึ่งเป็นที่นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมน้ำมันใส่ผม ไม่ได้มีส่วนช่วยแต่อย่างใด เพราะไม่สามารถซึมเข้าไปในเส้นผมได้เหมือนน้ำมะพร้าว








วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

5 โรคเรื้อรังกับสุขภาพของผู้สูงอายุ



5 โรคเรื้อรังกับสุขภาพผู้สูงอายุ

         ผู้สูงอายุ นั้นถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญจำเป็นที่เราต้องเอาใจใส่ ดูแลท่านอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในตอนนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ออกมาเปิดเผยว่า โครงสร้างประชากรของประเทศไทย ได้เข้าสู่โครงสร้างประชากรสูงอายุแล้ว ทำให้ประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) เกินร้อยละ 10 จากประชากรรวมทั้งสิ้น 66.5 ล้านคน หรือคิดเป็นผู้สูงอายุถึงกว่า 7 ล้านคน เมื่อดูตัวเลขแล้ว ก็น่าเป็นห่วง เพราะนอกจากสุขภาพใจที่อาจเกิดกับผู้สูงอายุเนื่องจากลูกหลาน ห่างเหินแล้ว หากสุขภาพกายมีโรครุมเร้าเข้าไปอีก คงทำให้การดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุมีความลำบากมากขึ้น

       ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากภาครัฐต้องหันมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมากขึ้นแล้ว ลูกหลานและผู้สูงอายุเองก็ยังต้องหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะ 5 โรคเรื้อรังซึ่งได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 31.7 โรคเบาหวาน ร้อยละ 13.3 โรคหัวใจ ร้อยละ 7.0 โรคอัมพาตอัมพฤกษ์ ร้อยละ 2.5 โรคหลอดเลือดในสมองตีบ ร้อยละ 1.6 และโรคมะเร็ง ร้อยละ 0.5 
      ดังนั้นผู้สูงอายุต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่ายๆ ดังนี้

      โรคเบาหวาน อาการที่มักพบบ่อย มาจากการที่มีภาวะน้ำตาลสูงโดยตรงและจากโรคแทรกซ้อนได้แก่ ปัสสาวะบ่อย และมีปริมาณมาก ปัสสาวะหลายครั้งตอนกลางคืน ในรายที่เป็นมากจะตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะสังเกตได้จากปัสสาวะแล้วมีมดตอม นอกจากนี้คนที่เป็น เบาหวานส่วนใหญ่จะมีอาการคอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก หิวบ่อย ทานอาหารจุ แต่น้ำหนักกลับลดลงและมีอาการอ่อนเพลีย นอกจากนี้ หากเป็นแผลจะหายยาก มีการติดเชื้อตามผิวหนัง เกิดฝีบ่อย คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้ป่วยเพศหญิง ตาพร่ามัว ชาปลายมือปลายเท้า หย่อนสมรรถภาพทางเพศ


       โรคความดันโลหิตสูง โรคนี้คร่าชีวิตของผู้สูงอายุไปปีละไม่น้อย สามารถสังเกตได้ 3 ระยะ คือ ระยะแรกส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการทางร่างกายปรากฏให้เห็น ระยะที่ 2 หรือระยะปานกลาง ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูง อาการเป็นๆ หายๆ อาจปรากฏอาการผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นแรง ตื่นเต้น นอนไม่หลับ มือสั่น ปวดหัว ถ้าได้รับการรักษาในระยะนี้อาจหายได้ หรือโรคจะไม่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น หากผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลพบว่ามีอาการเข้าข่ายจะต้องรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพ ระยะที่ 3 หรือระยะรุนแรง อาการที่พบมักจะปวดบริเวณท้ายทอยซึ่งเป็นมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า และดีขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงบ่ายหรือเย็น อาจจะมีอาการมึนหัว เวียนหัว ตาพร่ามัวอ่อนเพลีย และใจสั่นได้

      โรคหัวใจ อาการเบื้องต้นที่ควรสังเกตก็คือ อาการเจ็บหน้าอก บริเวณหลังกระดูกอก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเจ็บร้าวไปที่อื่น เช่น ด้านในของแขนซ้าย คอ หลัง ขากรรไกร เป็นต้น ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บแบบถูกบีบรัด บางรายมีเพียงอาการแน่นอึดอัด รู้สึกอ่อนเพลียจะเป็นลม อาการเจ็บจะทวีความรุนแรงขึ้นถึงขีดสุดแล้วจะหายไปในระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที อาการที่กล่าวมาทางการแพทย์เรียกว่าโรคแองจินาเปคทอรีส ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายหลังจากภาวะความเครียดทางจิตใจ การออกกำลังกาย การร่วมเพศ การทานอาหาร การถูกอากาศเย็นจัด เป็นไข้สูง นอกจากนี้ หากเป็นผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ก็อาจมีอาการรุนแรงขึ้น และเจ็บหน้าอกนานขึ้นประมาณครึ่งชั่วโมง ส่วนผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนก็อาจมีอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดจังหวะ เมื่อผู้ป่วยเจ็บหน้าอกอาจเกิดภาวะหัวใจวาย เกิดภาวะช็อกจากหัวใจ ฯลฯ


       โรคอัมพาตอัมพฤกษ์ โรคนี้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดอยู่แล้ว ยิ่งหากมีโรคเบาหวาน โรคหัวใจ เต้นผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูง โรคโคเลสเตอรอล ในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเครียด สูบบุหรี่ หรือดื่มสุราปริมาณมากเป็นประจำ ขาดการออกกำลังกายก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากขึ้น อาการที่สำคัญ คือ พูดไม่ออก พูดไม่ชัดทันทีทันใด หรือไม่เข้าใจคำพูด แขน ขา หน้า อ่อนแรง-ชา หรือขยับไม่ได้ทันทีทันใด ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว มองไม่เห็นหรือเห็นภาพซ้อน ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน ชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน เวียนศีรษะ เสียการทรงตัว หรือหมดสติ

     โรคหลอดเลือดในสมองตีบ อาการที่พบได้คือถ้าหาก มีอาการไม่มากก็อาจมีอาการพูดไม่ชัด มุมปากตก แขนขาอ่อนแรง ไม่มีแรง แต่พอเดินได้ ถ้าได้รับการรักษาอาจหายได้ใน 2 สัปดาห์ รายที่มีอาการปานกลาง ก็อาจจะเกิดอาการอ่อนแรงทันทีทันใด พูดได้ไม่ชัด ควรได้รับการรักษาทันที เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นตามมา ส่วนรายที่มีอาการรุนแรง มักจะไม่รู้สึกตัวตั้งแต่ต้นหรือซึมลงทันที จำเป็นต้องรักษาทันที มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้

       นอกจากนี้ ยังมีโรคมะเร็งชนิดต่างๆ และอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่อันตรายคือ ภาวะหกล้ม การสูญเสียความสามารถในการเดิน สติปัญญาเสื่อมถอย เบื่ออาหาร ปัสสาวะอุจจาระราด รวมทั้งการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ 
ทั้งนี้ ลูกหลานและผู้สูงอายุเองจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูแลตนเอง โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพประจำปี ดูแลสุขภาพช่องปากอยู่เสมอ บริโภคอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำวันละ 6 - 8 แก้ว ออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ขับถ่ายเป็นเวลาและพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 - 8 ชั่วโมง เป็นต้น  และหากมีอาการผิดปกติหรือเข้าข่าย 5 โรค (ร้าย) เรื้อรังอย่ารอช้ารีบไปพบคุณหมอด่วน
 






ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง


ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณเอง



       การออกกำลังกายมีผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ในทางกายทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่เรียกว่าสมบูรณ์ คือ พร้อมจะทำงาน และมีหลักฐานว่าสามารถช่วยป้องกันโรคได้หลายอย่าง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน เป็นต้น ในทางจิตใจการออกกำลังกายเป็นวิธีที่ใช้ใน การป้องกันและรักษาความเครียดที่ได้ผลดีอย่างหนึ่ง จึงถือกันว่าการออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของ รูปแบบการดำเนินชีวิต (Life Style) ที่ดี จึงมีประโยชน์มากถ้าสามารถ ทำได้อย่างสม่ำเสมอ 


      การออกกำลังกายเป็นเรื่องทำสำคัญต่อสุขภาพอย่างยิ่งซึ่งภายในหนึ่งวันหากสามารถออกกำลังกายได้เพียง 30 นาที ก็สามารถให้ช่วยให้คุณมีสุขภาพที่แข็งแรงได้ แล้วคุณรู้หรือเปล่าว่าการออกกำลังกายดีต่อสุขภาพของคุณอย่างไรบ้าง

ประการที่หนึ่ง ช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง เพราะสมองก็เหมือนกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่มีการเสื่อมลงตามวัย แต่การออกกำลังกายช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ ทำให้สามารถคิดและจดจำได้ดีกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย นอกจากนี้ การออกกำลังเป็นประจำยังทำให้ดูกระฉับกระเฉง มีสมาธิในการเรียนรู้ได้ดีกว่า
ประการที่สอง ทำให้กระดูกแข็งแรงหนาขึ้น โดยปกติทั่วไปการกินแคลเซียมเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ควรออกกำลังกายควบคู่ไปกับการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง
          
ส่วนประการที่สามนั้น เป็นการทำให้ผิวสวย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยนำออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกายได้มากขึ้น ยิ่งร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้นเพียงใด ก็จะยิ่งช่วยต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระได้มากขึ้นเท่านั้น จึงช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ได้ ทำให้ผิวพรรณสดใสขึ้น
ประการต่อมา ออกกำลังกายช่วยลดความเครียด ช่วยลดความวิตกกังวล ผ่อนคลายได้เนื่องจากในระหว่างการออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินส์หรือสารแห่งความสุข ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น นอกจากนี้การที่ร่างกายได้เคลื่อนไหว จิตใจก็ได้เคลื่อนไหวไปด้วย ทำให้ไม่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่กังวลอยู่ ส่วนการออกกำลังกายแต่ละชนิด มีผลต่อสมองต่างกันการออกกำลังกายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการทำสมาธิ เช่น โยคะ หรือไทเก๊ก จะช่วยผ่อนคลายความเครียดในสมองได้มากกว่า การออกกำลังกายประเภทที่ต้องออกแรงมาก
ประการที่ห้า ช่วยผ่อนคลายภาวะการณ์ปวดประจำเดือน สำหรับคุณผู้หญิงที่มักจะปวดประจำเดือน วิธีนี้จะเป็นวิธีธรรมชาติที่ช่วยรักษาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ดีที่สุด แต่ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง ว่ายน้ำ หรือแอโรบิค ถ้าไม่มีเวลาก็ออกกำลังง่ายๆ ด้วยการซิทอัพตอนเช้าก็ได้ ยิ่งใกล้รอบเดือนก็ยิ่งควรซิทอัพไว้ล่วงหน้า เพราะจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นและช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณมดลูกมีความยืดหยุ่นทำงานได้ดีขึ้น
 ประการต่อไป สามารถลดอาการท้องผูกได้ เพราะการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินเร็วๆ การวิ่งเหยาะ การว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้ระบบขับถ่ายได้ระบายของเสียและสารพิษออกจากร่างกายมากขึ้น


ประการที่เจ็ด ทำให้หลับง่ายขึ้น ซึ่งการออกกำลังกายในช่วงเย็น ช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น เนื่องจากการออกกำลังกายมีผลโดยตรงกับระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

 
ส่วนประการสุดท้ายนั้น ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เนื่องจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้กล้ามเนื้อแต่ละส่วนแข็งแรง ทำให้หุ่นกระชับสมส่วนได้


        การออกกำลังกายต้องให้เหมาะสมกับตัวเอง ตามวัย สุขภาพ เฉพาะตัว และเวลาที่มีอยู่ ต้องปรับให้เหมาะกับกิจวัตรประจำวันอื่นที่ต้องทำ และต้องที่สำคัญคือต้องสนุกด้วย ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดโทษและไม่เกิดความรู้สึกว่าการออกกำลังกายเป็นภาระที่ต้องทำ 

       เวลาสำหรับการออกกำลังกาย เลือกได้ตามความสะดวก แต่ต้องยกเว้นช่วงเวลาหลังอาหารใหม่ๆ (จะทำให้ปวดหรือแน่นท้อง) เวลาใกล้นอน ( จะทำให้นอนไม่หลับ) หรือภายหลังการดื่มเครื่องดื่มที่มี แอลกอฮอล์ (ทำให้เหนื่อยง่ายกว่าธรรมดา หรืออาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างการออกกำลังกาย) 


 
คลิ๊กที่ภาพ





โรคต้อหิน ภัยที่มากับการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ

ภัยใกล้ตัวที่เกิดจากอยู่หน้าคอมพิวเตอร์




      เพราะยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล จึงทำให้การทำงานต่างๆ ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยในการทำงานเป็นหลัก ด้วยความสะดวกสบายนี้จึงทำให้หลายคน โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงานที่มีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ยอมลุกจากเก้าอี้ เพื่อต้องการเคลียร์งานให้เสร็จ   แต่หารู้ไม่ว่าการนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ เกิน 1 ชั่วโมงโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหลัง ก้นกบ สะโพก และขาเกร็ง รวมไปถึงข้อ เส้นเอ็น และอวัยวะภายใน ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามมา

     ข้อมูลจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดย พ.อ.นพ.กิฎาพล วัฒนกูล ผู้อำนวยการกอง เวชศาสตร์ฟื้นฟู ได้รวบรวมเรื่องราวรอบโรคนำเสนอเป็นความรู้ที่น่าสนใจ ถึง กลุ่มอาการที่อาจกล่าวว่าเป็นโรคใหม่ของผู้ใช้ คอมพิวเตอร์ คือ Cumulative Trauma Disorders (ความผิดปกติจากอุบัติภัย สะสม) เป็นอาการที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ไม่ใช่โรค แต่ เป็นปฏิกิริยาจากการทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์หลัก และโรคใหม่อีก โรค คือ โรค Hurry Sickness (โรคทนรอไม่ได้) มักเกิดกับผู้ที่เล่นอิน เทอร์เน็ต ที่ทำให้อาการกระวนกระวาย ซึ่งหากมีอาการมาก ๆ ก็จะเข้าข่ายเป็น โรคประสาทได้ ซึ่งอาจนำไปถึงการเสียเพื่อน และตกงานได้ รายงานการศึกษาวิจัย ที่เกี่ยวข้องได้มีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ในกลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์กัน อย่างแพร่หลายในหลาย ๆ ประเทศ พอสรุปได้ดังนี้คือ 




1. ในประเทศสวีเดน พบว่า สารเคมีจากจอคอมพิวเตอร์ ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ ได้ สารนี้มีชื่อทางเคมีว่า Triphenyl Phosphate ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในจอวิดีโอ และคอมพิวเตอร์

2. ในประเทศญี่ปุ่น มีผลการวิจัยบ่งชี้ว่า การใช้เวลาทำงานกับหน้าจอ คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ สามารถทำให้มีอาการป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจ รวม ทั้งอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ อาการอ่อนเพลีย ซึ่งกลายเป็นอาการ ปกติที่เกิดขึ้น เป็นประจำสำหรับพนักงานที่ใช้เวลาเกินกว่า 5 ชั่วโมงทำ งานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ในแต่ละวัน

3. ในประเทศไทย โดยกองอาชีวอนามัย กรมอนามัย ได้ศึกษาวิจัยในกลุ่มผู้ใช้ คอมพิวเตอร์จากหลาย ๆ หน่วยงานพบว่า ห้องทำงานส่วนใหญ่มีสภาพการจัดที่ไม่ เหมาะสม ทั้งนี้มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ร้อยละ 62 ที่ทราบถึงผลกระทบต่อระบบสาย ตา ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่ทราบถึงผลกระทบต่อระบบกล้าม เนื้อ กระดูกและข้อต่อ อันเนื่องมาจากการใช้คอม พิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ
 


โรคและกลุ่มอาการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อันเนื่องมาจากการทำงานกับ คอมพิวเตอร์

    โรค Cumulative Trauma Disorders (ความผิดปกติจากอุบัติภัยสะสม) อาการของ โรคจะค่อยเป็นค่อยไป จะมีอาการปวดคอ ไหล่ ข้อมือ และหลัง ผู้ที่เป็น มาก ๆ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการชาที่มือ อาการของโรคพวกนี้แบ่ง เป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกเป็นแล้วหายเมื่อได้พัก ระยะสองคือ มีอาการต่อ เนื่องถึงกลางคืน และหายเมื่อได้พัก ระยะสามคือ เป็นตลอดเวลาไม่หายเมื่อได้ พัก การรักษาคือ ต้องปรับพฤติกรรมการทำงานของตนเองก่อน หรือถ้าเป็นมากควร ปรึกษาแพทย์ และควรเล่าประวัติการทำงาน ให้แพทย์ทราบสาเหตุที่แท้จริง แพทย์ จึงจะรักษาเจาะจงเฉพาะที่ได้




       โรคนี้มีความคล้ายกับ โรคจากการทำงานซ้ำซาก ซึ่งนักกายภาพบำบัดอธิบายว่า พบ มากในผู้ที่ทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน มักจะมีอาการชาข้อ มือ หรือที่เรียกว่า กลุ่มอาการอุโมงค์ข้อ มือ (Carpal Tunnel Syndrome) เกิดเนื่องจากการใช้งานซ้ำ ๆ ที่บริเวณข้อ มือ ทำให้เอ็นรอบ ๆ ข้อมือหนาตัวขึ้นแล้วไปกดเส้นประสาทที่วิ่งผ่าน ทำให้ เกิดอาการชาและเจ็บได้ ซึ่งการรักษานอกจากทางกายภาพ โดยใช้ความร้อนทำให้ บริเวณที่จับหนาตัวขึ้นนิ่มลงและยืดมันออก ทำให้อุโมงค์ที่เส้นประสาทลอด ผ่านขยายตัวได้ แต่ถ้าผู้ที่เป็นมาก ๆ จะมีอาการชาจนกระทั่งกล้ามเนื้ออ่อน แรงลงไป การผ่าตัดคือ วิธีรักษาที่ดีที่สุด


      โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) มักจะเกิดกับผู้ที่เล่นอินเทอร์เน็ต ที่ทำ ให้กลายเป็นคนขี้เบื่อ หงุดหงิดง่าย ใจร้อน เครียดง่าย เช่น ทนรอเครื่อง ดาวน์โหลดนาน ๆ ไม่ได้ กระวนกระวาย หากมีอาการมาก ๆ ก็จะเข้าข่ายโรคประสาท ได้ ท่านจึงควรปรับเปลี่ยนลักษณะงาน และพยายามควบคุมอารมณ์ตนเองไว้บ้าง มิ ฉะนั้นท่านจะเป็นคนที่เสียทั้งงานและเสียทั้งเพื่อนได้ 


     โรคภูมิแพ้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอก โฮล์ม ในสวีเดนพบว่า สารเคมีจากจอ คอมพิวเตอร์ ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ สารนี้มีชื่อ ว่า Triphenyl Phosphate ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในจอวิดีโอ และคอม พิว เตอร์ สามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เช่น คัน คัดจมูก และปวด ศีรษะ ผลวิจัยพบว่า เมื่อจอคอมพิวเตอร์ร้อนขึ้นจะปล่อยสารเคมีดังกล่าวออก มา โดยเฉพาะหากสภาพภายในห้องทำงานที่มีเนื้อที่จำกัด เครื่องคอมพิวเตอร์อาจ จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ ดังนั้น อากาศที่ดีจึงจำเป็น อย่างยิ่ง

     โรคต้อหินชนิดเรื้อรัง เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการใช้สายตา( Demand )และปริมาณเลือดแดงที่เข้ามาเลี้ยงเซลล์ประสาทตาภายในลูกตา( Supply ) เมื่อเซลล์ประสาทตาได้รับเลือดมาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ จะค่อยๆทยอยเฉาตายลงไปเรื่อยๆ ความดันลูกตาที่สูงกว่าปกติ เป็นเพียงสาเหตุรองที่ต้านระบบไหลเวียนเลือด ทำให้ภาวะขาดเลือดดังกล่าวเลวลงไปอีก
ในอนาคต ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยโรคต้อหินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสภาพเศรษฐกิจที่รัดตัว ผู้คนจะทำงานหนักมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สายตา บวกกับความเจริญทางด้านไอที ทำให้มีการใช้คอมพิวเตอร์กันมากขึ้น และจะพบผู้ป่วยโรคต้อหินอายุน้อยลงเรื่อยๆ ( จากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน การเล่นเกมส์ และการใช้อินเตอร์เน็ต ) และเป็นกลุ่มของโรคต้อหินที่ไม่จำเป็นต้องมีค่าความดันลูกตาสูง ทำให้วินิจฉัยได้ยาก เหมือนในประเทศญี่ปุ่น ที่ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดความดันลูกตาปกติ มากที่สุดในโลก

ข้อเสนอแนะ
การจัดและปรับสภาพโต๊ะทำงานคอมพิวเตอร์ โดยผู้ใช้คอมพิวเตอร์แต่ละคน ควร ปรับระดับที่เหมาะสมของตนเอง เพื่อให้ได้ท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง เพื่อ ป้องกันปัญหาตาล้า และความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อของ ร่างกาย จึงขอเสนอคำแนะนำในการจัดสัดส่วนงานคอมพิวเตอร์ มีรายละเอียด ดัง นี้ คือ


โต๊ะทำงาน และเก้าอี้
   ควรปรับพนักเก้าอี้ของคุณให้เอียง 100-110 องศา ควรปรับพนักเก้าอี้ขึ้นลงให้เหมาะสม หากมีหมอนเล็กๆ ก็ควรนำมาพิงหลังหากจำเป็น เพื่อให้หลังตั้งตรง หรือหากเก้าอี้ทำงานมีระบบปรับหลังพนักพิงให้ปรับตำแหน่งเก้าอยู่เสมอ ให้พนักพิงสามารถรองรับช่วงโค้งของกระดูกสันหลังช่วงเอวได้ดี
ปรับ ที่วางแขนเพื่อให้ไหล่อยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย หากที่วางแขนทำให้ทำงานไม่ถนัดก็ควรถอดออก
   การจัด วางจอคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้อง
ควรปรับจอภาพด้านบนสุดให้อยู่ในแนวเดียวกับ ระดับสายตา
   ควรวางจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่เหนือคีย์บอร์ด และอยู่ตรงหน้า ตรงกับระดับสายตาในขณะที่นั่งประมาณ 2-3 นิ้ว
   ควร นั่งให้แขนห่างจากหน้าจอให้ยาวที่สุด และควรปรับระยะการมองเห็น พยายามหลีกเลี่ยงการเพ่งจ้องคอมพิวเตอร์ โดยการวางตำแหน่งจอให้เหมาะสม ถ้าจะให้ดีควรจะมีแผ่นกรองแสงเพื่อป้องกันการเสื่อมของตาด้วย
   ปรับ มุมจอคอมพิวเตอร์ในแนวตั้ง และปรับอุปกรณ์ควบคุมจอเพื่อลดการมองแสงที่ออกจากคอมพิวเตอร์ หรือควรปรับม่านหากมีแสงสว่างมากจนเกินไปทำให้มองไม่เห็นจอคอมพิวเตอร์
   อย่าง ไรก็ตามการนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวด เมื่อย หรือ กล้ามเนื้อเกร็งได้ แม้ว่าจะมีการจัดวางตำแหน่งของคอมพิวเตอร์ ปรับเก้าอี้ พนักพิง และการนั่งที่ถูกต้องแล้ว แต่การนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ก็อาจจะทำให้การไหลเวียนของเลือดหยุดชะงัก และทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าได้ ซึ่งการหยุดพักและผ่อนคลายเป็นวิธีป้องกันได้ดีที่สุด โดย ดร.แพทริก อิริคสัน ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อให้กับพนักงานออฟฟิศง่ายๆ ที่สามารถปฏิบัติได้จริง ดังนี้
  ควรจะพักบริหารร่างกายสัก 1-2 นาที ในทุกๆ 20-30 นาที หลังจากที่นั่งทำงานในแต่ละชั่วโมง เพื่อให้ร่างกาย และกล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย พยายามหางานอย่างอื่นทำแทนในขณะที่หยุดพัก หรือจะเดินไปเข้าห้องน้ำ ยืดเส้น บิดตัวไปมา ก็อาจจะช่วยให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายมากขึ้น
  ควรพักสายตา อย่างน้อย 5 นาที หลังจากที่จ้องดูหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ เนื่องจาก แสง และรังสีต่างๆ ที่ออกจากจอ อาจทำให้ตาเมื่อยล้า และทำให้สายตาสั้นลงได้ ควรจะพักสายตา โดยการหลับตา หรือ มองไปบริเวณรอบๆ เป็นระยะๆ หากรู้สึกปวดตา ให้มองไปบริเวณที่มีสีเขียว ก็อาจจะทำให้รู้สึกสบายตาขึ้น ไม่ควรจ้องมองไปที่แสงสว่าง หรือที่มีแดดจ้า

หากรู้สึกเมื่อย ก็ให้หยุดพัก ออกไปเดินสูดอากาศข้างนอก ล้างหน้า เพื่อเพิ่มความสดชื่น อย่าฝืนนั่งทำ เพราะอาจจะทำให้เสียสุขภาพได้





อันตรายจากการใช้ยา (( Paracetamol ))

พาราเซตามอล (paracetamol)




        พาราเซตามอล (paracetamol) เป็นยาสามัญประจำบ้าน มีสรรพคุณในการบรรเทาปวด ลดไข้ เป็นที่รู้จัก และใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมไทย สามารถหาซื้อได้ง่ายโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ประชาชนทั่วไปจึงกินยาพาราเซตามอลเมื่อมีอาการปวดศีรษะ ไข้หวัด ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยิ่งกว่านั้นบางรายปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ก็กินพาราเซตามอล ซึ่งพาราเซตามอลก็คงไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากทำให้สบายใจขึ้นเพราะได้กินยาแล้ว พาราเซตามอล หรือ อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) เป็นยาบรรเทาอาการปวดที่ไม่มีฤทธิ์ระงับอาการอักเสบเหมือนอย่างแอสไพริน (aspirin) และไอบูโปรเฟน (ibuprofen) และไม่ใช่ยาแก้อักเสบประเภทสเตียรอยด์ (steroid) แม้ว่ากลไกการออกฤทธิ์ของพาราเซตามอลยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พาราเซตามอลก็จัดเป็นยาบรรเทาอาการปวดที่ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องการระคายเคืองผนังกระเพาะอาหาร และการแข็งตัวของเลือด เหมือนยาแอสไพริน และ ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หากใช้ในขนาดการรักษาปกติ เป็นเหตุให้ปริมาณการใช้ยาตัวนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พาราเซตามอลมีวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. 1955 ในสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อการค้าว่า ไทลีนอล (Tylenol) และวางจำหน่ายในประทศอังกฤษ ปี ค.ศ. 1956 ภายใต้ชื่อการค้าว่า พานาดอล (Panadol) สำหรับชื่อทางการค้าอื่นๆ ที่มีจำหน่ายทั่วไป ได้แก่ คาลปอล (Calpol) ดาก้า (DAGA) นูตามอล (Nutamol) พาราแคป (Paracap) พาราเซต (Paracet) พารามอล (Paramol) ซาร่า (Sara) ซาริดอน (Saridon) และเทมปร้า (Tempra) เป็นต้น รูปแบบที่มีจำหน่ายก็มีทั้งแบบยาเม็ด ขนาด 500 มิลลิกรัม และยาน้ำสำหรับเด็กและทารก ซึ่งมีหลายความแรง (จึงต้องดูฉลากข้างขวดให้รอบคอบ) 



        อันตรายจากการใช้ยาพาราเซตามอลที่พบได้มากที่สุด คือ พิษต่อตับ ทำให้ตับเสียการทำงานหรือตับวาย ซึ่งหากได้รับยาต้านพิษไม่ทันเวลาก็จะทำให้เสียชิวิตได้ รองมาเป็นเรื่องของการเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น หรือตีกับยาอื่น เช่นพาราเซตามอลตีกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดตัวหนึ่งในผู้ที่เป็นเลือดข้น กล่าวคือพาราเซตามอลทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงได้ หากได้รับในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเท่ากับไปเสริมฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือดจนทำให้ผู้นั้นเกิดเลือดออกผิดปกติขึ้น เนื่องจากพาราเซตามอลที่ผลิตออกจำหน่ายในปัจจุบันนั้นมีหลายรูปแบบ หลายความแรง หลายยี่ห้อ ในรูปของยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม และการนำพาราเซตามอลไปผสมกับยาอื่นๆ ได้แก่ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้หวัด ยาแก้ปวด เป็นต้น ซึ่งเป็นการยากที่ประชาชนทั่วไปจะทราบ ทำให้เกิดการกินยาซ้ำซ้อนโดยไม่รู้ตัว และหากระยะเวลานานเป็นเดือนก็จะเกิดการเป็นพิษต่อตับขึ้น ดังนั้นทางที่ดี ก่อนกินยาอะไรควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดเสียก่อน และหากไม่แน่ใจว่าเป็นยาอะไร เป็นยาสูตรผสมหรือไม่ ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

          การกินพาราเซตามอลร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า ไวน์ รัม ยีน หรือ เบียร์ เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง เพราะตัวแอลกอฮอล์เองเป็นที่ทราบกันดีว่าหากได้รับในปริมาณมาก หรือต่อเนื่องกันนานๆ ก็ทำให้เกิดภาวะตับแข็ง และตับวายได้ หากกินร่วมกับพาราเซตามอลก็จะเท่ากับเป็นการเร่งให้ตับเสียการทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการออกกฎหมายให้มีการพิมพ์คำเตือนบนฉลากยาพาราเซตามอลว่า “ห้ามรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์” เนื่องจากเกิดคดีพิพากษาเกี่ยวกับการกินยาพาราเซตามอลร่วมกับไวน์เป็นประจำของชาวเวอร์จิเนียรายหนึ่งจนทำให้ตับวาย จนต้องมีการปลูกถ่ายตับใหม่

         การใช้ยาพาราเซตามอลอย่างปลอดภัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนต้องทราบ เนื่องจากยาพาราเซตามอลมีฤทธิ์ในการบรรเทาปวดเท่านั้น ไม่มีฤทธิ์ในการระงับการอักเสบ และไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งไข้หวัด หรืออาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ดังนั้นข้อสำคัญที่สุดในการใช้ยาพาราเซตามอลคือใช้เท่าที่จำเป็นในขนาดการรักษาปกติ กล่าวคือ สำหรับเด็ก (อายุต่ำกว่า 12 ปี) ให้รับประทานครั้งละ 10 - 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดศีรษะหรือมีไข้ แต่ไม่เกินวันละ 2.6 กรัม สำหรับผู้ใหญ่ให้รับประทานยาพาราเซตามอล 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ก็กินแค่ยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด ก็เพียงพอ) ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดศีรษะหรือมีไข้ แต่ไม่เกินวันละ 4 กรัม (ยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม 8 เม็ด) และหากไม่มีอาการแล้วก็ควรหยุดกินยาทันที หรือหากใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติม ส่วนผู้ป่วยโรคตับ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาพาราเซตามอล



          หากลืมรับประทานยาพาราเซตามอลควรทำอย่างไร คำตอบคือให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเวลาที่นึกได้ใกล้เคียงกับเวลารับประทานครั้งต่อไป ไม่ต้องรับประทานยาที่ลืมนั้น ให้รับประทานยาตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มเป็น 2 เท่า ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก และในที่ที่ไม่ถูกความร้อนหรือแสงโดยตรง ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความชื้น หากเป็นพาราเซตามอลชนิดน้ำควรเก็บในที่เย็น สำหรับยาที่หมดอายุแล้วไม่ควรเก็บไว้ หรือนำมาใช้อีก คำแนะนำพิเศษในการใช้ยาพาราเซตามอลที่ผู้เขียนอยากจะฝากถึงท่านผู้ฟังทุกท่าน มีดังนี้
          1. ในเด็กไม่ควรใช้ยานี้เกิน 5 วัน ส่วนในผู้ใหญ่ไม่ควรใช้ยานี้เกิน 10 วัน หากหลังจากนี้ยังมีอาการปวดอยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร 
          2. ในเด็กไม่ควรใช้ยานี้มากกว่า 5 ครั้งใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการใช้พาราเซตามอลเกินขนาด 
          3. ไม่ควรใช้ยานี้หากมีไข้สูง หรือมีไข้นานกว่า 3 วัน หรือเป็นไข้กลับซ้ำ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร 
          4. ก่อนใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วยในการแก้ปวดศีรษะ ลดไข้ ควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดก่อนว่า ไม่มีตัวยาพาราเซตามอลผสมอยู่ด้วยอีก เพื่อป้องกันการรับยาเกินขนาดปกติ


          มาถึงตรงนี้ ท่านคงตระหนักดีแล้วว่า ยาพาราเซตามอลไม่ใช่ยาที่ใช้รักษาได้สารพัดโรค การใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดเป็นอันตรายร้ายแรงที่สุดถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นจึงควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น ทางที่ดีหากมีอาการปวดไม่มาก ควรปล่อยให้หายเองจะดีกว่า แต่หากไม่หาย ควรใช้ยาปริมาณที่พอดีเท่านั้น และหากใช้ยาหลายวันแล้วก็ยังไม่หาย การไปพบแพทย์จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด






โรคที่มากับภัยหนาว



อุจจาระร่วงอีกหนึ่งโรคที่มากับภัยหนาว




        พบปีที่ผ่านมา ภัยหนาวทำคนไทยป่วยด้วยโรคจากภัยหนาวกว่า 5 แสนราย เสียชีวิต 381 ราย เตือน ประชาชนระวังโรคมากับภัยหนาว แนะดูแลสุขภาพ ชี้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมเสี่ยงป่วยง่ายกว่าปกติ
    
        ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า จากการติดตามสถานการณ์ในฤดูหนาวในปีที่ผ่านมา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 - กุมภาพันธ์ 2553 ทั่วประเทศ มีผู้ป่วยจากโรคฤดูหนาว 6 โรครวมกัน 541,650 ราย มากที่สุดคือ โรคอุจจาระร่วง 438,148 ราย รองลงมาคือ ปอดบวม 51,464 ราย ไข้หวัดใหญ่ 30,828 ราย ที่เหลือเป็นโรคสุกใส โรคหัด และโรคหัดเยอรมัน มีผู้เสียชีวิตรวม 381ราย จากโรคปอดบวมมากที่สุด 340 ราย ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะประชุมผู้บริหารระดับสูงในวันพรุ่งนี้ ( 1 พฤศจิกายน 2553 ) เพื่อกำหนดมาตรการดูแลประชาชนและควบคุมป้องกันโรคในหน้าหนาว
      


       รมช.สธ.กล่าวด้วยว่า เนื่องจากขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศที่เย็นลง เอื้อต่อเชื้อโรคบางชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้เกิดโรคติดต่อหลายโรค ที่มักพบบ่อยในฤดูหนาวมี 6 โรค ได้แก่ โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส และโรคอุจจาระร่วง กลุ่มประชาชนทีมีความเสี่ยงป่วยง่ายกว่าคนประชาชนทั่วไป ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคโลหิตจาง เนื่องจากมีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว จึงขอให้รักษาความอบอุ่นร่างกาย ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง คือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มมึนเมา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือบ่อยๆ โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศการป้องกันโรคในฤดูหนาว เพื่อให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการปฏิบัติตัวไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวแล้ว
    
       ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมขัง อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ประสบภัยเจ็บป่วยง่าย เนื่องจากอากาศมีความชื้นสูง สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือเรื่องที่นอน หากที่นอนเปียกน้ำแล้ว ไม่ควรนำมาใช้อีก เนื่องจากน้ำจะชุ่มอยู่ในวัสดุที่ใช้ทำที่นอน จะมีความชื้นสูง ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ควรใช้วัสดุอื่นปูนอนเช่นเสื่อ หรือผ้าหนาๆ ก็ได้


       



       นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัดเยอรมัน สุกใส เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ทางการไอจาม โดยเชื้อโรคจะอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และอาจติดจากการใช้ภาชนะ และสิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น โดยโรคไข้หวัดใหญ่ อาการจะเริ่มด้วยการมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ เมื่อเริ่มมีอาการ ควรนอนพักผ่อนให้มากๆ ดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมากควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-7 วัน แต่หากมีอาการไอมากขึ้นหรือมีไข้สูงนานเกิน 2 วันควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะเด็กเล็กหากมีอาการเปลี่ยนแปลงคือหายใจเร็วขึ้น มีอาการหอบ หรือหายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง อาจเกิดโรคแทรก ที่สำคัญคือ โรคปอดบวม ซึ่งมีความรุนแรง ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้ง เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย เด็กขาดสารอาหาร เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น
      





       นพ.มานิตกล่าวต่อว่า โรคหัดมักเกิดในเด็กโตและวัยรุ่น อาการจะเริ่มจากมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง และจะมีผื่นขึ้นภาย หลังมีไข้ประมาณ 4 วัน จากนั้นผื่นจะกระจายทั่วตัว โดยผื่นจะจางหายไปภายใน 2 สัปดาห์ เด็กที่ป่วยเป็นหัด ให้แยกออกจากเด็กอื่นๆ ประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนโรคหัดเยอรมันเป็นได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็ก มีอาการไข้ ออกผื่นคล้ายโรคหัด บางรายอาจไม่มีผื่นขึ้น หากเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ ดังนั้นควรพบแพทย์และหยุดงานหรือหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะนี้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐมีบริการฉีดวัคซีนรวมป้องกันได้ 3 โรค ทั้งโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม ให้กับเด็กอายุ 4-6 ปี และเด็กอายุ 9-12 เดือน รวม 2 ครั้ง จะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต ส่วนโรคสุกใส มักจะเกิดในเด็ก เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต อาการจะเริ่มด้วยไข้ต่ำๆ ต่อมาจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัว โดยเริ่มเป็นผื่นแดง ตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสหลังมีไข้ 2-3 วัน จากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง และแห้งตกสะเก็ดหลุดออกเองประมาณ 5-20 วัน เด็กนักเรียนที่ป่วยควรหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ เด็กเล็กที่ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการอักเสบจากการเกาที่ผื่น
       



       “สำหรับโรคอุจจาระร่วงในฤดูหนาว ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า โรต้าไวรัส มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ติดต่อโดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนเข้าไป โดยเด็กจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง แต่เด็กบางคนอาจขาดน้ำรุนแรง หากมีเด็กในบ้านถ่ายเหลว ควรให้กินอาหารเหลวบ่อยๆ เช่นน้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด ให้ดื่มนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม ควรผสมนมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากยังถ่ายบ่อย ให้ผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้ดื่มบ่อยๆ อาการจะกลับเป็นปกติได้ภายใน 8-12 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที” นพ.มานิตย์ กล่าว
     





      อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับการป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งสะอาด ปลอดภัย เด็กมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่างๆ ได้ดี ผู้ที่ดูแลเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ให้เด็กกินอาหารที่สุกใหม่ๆ และดื่มน้ำต้มสุก โดยให้เด็กที่ป่วยถ่ายอุจจาระลงในภาชนะที่รองรับมิดชิด แล้วนำไปกำจัดในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย




http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9530000153233