วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

ภัยร้ายใกล้ตัวผู้หญิง...มะเร็งปากมดลูก





     มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย โดยมีสถิติของผู้เสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 7 คนต่อวัน เมื่อเป็นในระยะเริ่มแรกส่วนมากไม่มีอาการแต่สามารถตรวจพบเซลล์ผิดปกติได้ ดังนั้นการตรวจหามะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถตรวจตรวจพบเซลล์มะเร็งได้ในระยะเริ่มต้นซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและป้องกันไม่ให้กลายเป็นมะเร็งชนิดลุกลามได้ทันท่วงทันที และสามารถรักษาให้หายขาดได้



 มะเร็งปากมดลูก คือ มะเร็งที่ใช้ระยะเวลาในการก่อตัวของโรคนานกว่า 5 -10 ปี นับจากช่วงแรกที่เซลส์บริเวณปากมดลูกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจนถึงระยะที่ภาวะของโรคอยู่ในระดับที่รุนแรงมากขึ้น โดยไม่ปรากฎอาการหรือสัญญาณใด ๆ จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวเลยว่าได้ป่วยเป็นโรคนี้แล้วจนเมื่อเริ่มมีอาการปรากฏ แต่นั่นก็อาจหมายถึงโรคร้ายนี้ได้ลุกลามเข้าสู่ระดับที่รุนแรงและยากต่อการรักษาให้หายขาดได้

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ที่บริเวณปากมดลูก เป็นเหตุให้เซลล์ปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นเซลล์ผิดปกติได้ โดยมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกดังนี้
• มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย
• มีคู่นอนหลายคนหรือมีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีคู่นอนหลายคน
• รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
• สูบบุหรี่
• ขาดการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก



สัญญาณอันตรายที่บ่งบอกถึงโรคมะเร็งปากมดลูก
 - มีเลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติหรือมีระยะเวลานานกว่าปกติ
 - รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์หรือมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
 - ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน,มีตกขาวผิดปกติ
 - มีของเหลวไหลจากช่องคลอดผิดปกติหรือมีเลือดออกในช่วงวัยหมดประจำเดือน


อาการของมะเร็งปากมดลูก

อาการที่พบมากที่สุดคือ การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด 80 - 90 % ลักษณะ เลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวปนเลือด มีกลิ่นเหม็นหรือเลือดออกสดๆ เป็นก้อนเลือด สตรีที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดจึงควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจภายใน


การป้องกันตน จากโรคมะเร็งปากมดลูก


การป้องกันตน เพื่อให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งปากมดลูก
      การเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูกหรือลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อเอชพีวี เป็นเรื่องสำคัญของผู้หญิงยุคนี้ โดยมีข้อแนะนำที่ทำได้ง่ายๆ คือ
     1. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย เพื่อลดช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ดังนั้น วัยรุ่นจึงนับได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการได้รับเชื้อ HPV จากพฤติกรรมของการมีเพศสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน
     2. ควรจะให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เรียกว่า "แป็ป สเมียร์" (Pap smear) ซึ่งปัจจุบัน สามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยควรที่จะรับการตรวจเป็นประจำทุกๆ ปี เพื่อให้เราทราบว่า เซลส์บริเวณปากมดลูกมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติหรือไม่ เพราะการรักษาในระยะก่อนเป็นมะเร็งจะทำให้มีโอกาสหายขาดได้ค่อนข้างสูง ในขณะที่การรักษาในระยะลุกลามนั้น จะรักษายากและทำให้มีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น



วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก... นวัตกรรมที่ช่วยลดสถิติของโรคร้ายนี้
          ความสำเร็จจากการค้นพบสาเหตุและวิทยาการของการแพทย์สมัยใหม่ ได้นำมาสู่การพัฒนาเป็นวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ (6,11,16,18) ที่ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% ในส่วนที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อ เอชพีวีสายพันธุ์ที่สำคัญ โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US. FDA) ได้ให้การรับรองว่า วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนี้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์หลักเหล่านั้น ได้ 100% ถ้าหากได้รับวัคซีนก่อนที่จะมีการติดเชื้อ นอกจากนี้ วัคซีนดังกล่าวยังสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีชนิดที่ไม่มีผลต่อการเกิดมะเร็ง แต่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศได้อีกด้วย


          ด้วยประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด รวมทั้งโรคหูดอวัยวะเพศ ทำให้วัคซีนมะเร็งปากมดลูกชนิด 4 สายพันธุ์ (6,11,16,18) นี้ ได้รับการยอมรับและผ่านการอนุมัติการใช้แล้วในประเทศไทย และกว่า 70 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย ได้แก่ ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนี้ในประเทศชั้นนำอย่างออสเตรเลียและบางรัฐของสหรัฐอเมริกา ยังได้ประกาศให้วัคซีน นี้เป็นภคบังคับสำหรับเด็กหญิงและผู้หญิงในช่วงอายุ 9-26 ปี อย่างไรก็ดี ขณะนี้การวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีน ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และได้ขยายผลครอบคลุมมาสู่กลุ่มผู้หญิงในช่วงอายุ 27 – 45 ปีแล้ว

          อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกแล้ว การตรวจแปป สเมียร์ อย่างสม่ำเสมอก็เป็นเรื่อง ที่สูติ-นรีแพทย์ยังคงแนะนำให้ปฏิบัติอยู่ เพราะการป้องกันจากวัคซีนดังกล่าว สามารถครอบคลุมเฉพาะในส่วนของเชื้อเอชพีวีเฉพาะสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุุุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ในขณะที่เราอาจจะยังมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีในสายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจมีผลต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน
มะเร็งปากมดลูก... โรคร้ายที่วันนี้การป้องกันอยู่ในมือคุณ
ปรึกษาแพทย์ของท่าน เพื่อขอข้อมูลแนวทางการป้องกันที่ได้รับการยอมรับแล้ว โดยผู้หญิงนับล้านคนจากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก


"วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก อีกสิ่ง... สำหรับอนาคตที่กำหนดได้โดยคุณ"



  




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น