วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

อันตรายจากการใช้ยา (( Paracetamol ))

พาราเซตามอล (paracetamol)




        พาราเซตามอล (paracetamol) เป็นยาสามัญประจำบ้าน มีสรรพคุณในการบรรเทาปวด ลดไข้ เป็นที่รู้จัก และใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมไทย สามารถหาซื้อได้ง่ายโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ประชาชนทั่วไปจึงกินยาพาราเซตามอลเมื่อมีอาการปวดศีรษะ ไข้หวัด ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยิ่งกว่านั้นบางรายปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ก็กินพาราเซตามอล ซึ่งพาราเซตามอลก็คงไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากทำให้สบายใจขึ้นเพราะได้กินยาแล้ว พาราเซตามอล หรือ อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) เป็นยาบรรเทาอาการปวดที่ไม่มีฤทธิ์ระงับอาการอักเสบเหมือนอย่างแอสไพริน (aspirin) และไอบูโปรเฟน (ibuprofen) และไม่ใช่ยาแก้อักเสบประเภทสเตียรอยด์ (steroid) แม้ว่ากลไกการออกฤทธิ์ของพาราเซตามอลยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พาราเซตามอลก็จัดเป็นยาบรรเทาอาการปวดที่ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องการระคายเคืองผนังกระเพาะอาหาร และการแข็งตัวของเลือด เหมือนยาแอสไพริน และ ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หากใช้ในขนาดการรักษาปกติ เป็นเหตุให้ปริมาณการใช้ยาตัวนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พาราเซตามอลมีวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. 1955 ในสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อการค้าว่า ไทลีนอล (Tylenol) และวางจำหน่ายในประทศอังกฤษ ปี ค.ศ. 1956 ภายใต้ชื่อการค้าว่า พานาดอล (Panadol) สำหรับชื่อทางการค้าอื่นๆ ที่มีจำหน่ายทั่วไป ได้แก่ คาลปอล (Calpol) ดาก้า (DAGA) นูตามอล (Nutamol) พาราแคป (Paracap) พาราเซต (Paracet) พารามอล (Paramol) ซาร่า (Sara) ซาริดอน (Saridon) และเทมปร้า (Tempra) เป็นต้น รูปแบบที่มีจำหน่ายก็มีทั้งแบบยาเม็ด ขนาด 500 มิลลิกรัม และยาน้ำสำหรับเด็กและทารก ซึ่งมีหลายความแรง (จึงต้องดูฉลากข้างขวดให้รอบคอบ) 



        อันตรายจากการใช้ยาพาราเซตามอลที่พบได้มากที่สุด คือ พิษต่อตับ ทำให้ตับเสียการทำงานหรือตับวาย ซึ่งหากได้รับยาต้านพิษไม่ทันเวลาก็จะทำให้เสียชิวิตได้ รองมาเป็นเรื่องของการเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น หรือตีกับยาอื่น เช่นพาราเซตามอลตีกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดตัวหนึ่งในผู้ที่เป็นเลือดข้น กล่าวคือพาราเซตามอลทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงได้ หากได้รับในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเท่ากับไปเสริมฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือดจนทำให้ผู้นั้นเกิดเลือดออกผิดปกติขึ้น เนื่องจากพาราเซตามอลที่ผลิตออกจำหน่ายในปัจจุบันนั้นมีหลายรูปแบบ หลายความแรง หลายยี่ห้อ ในรูปของยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม และการนำพาราเซตามอลไปผสมกับยาอื่นๆ ได้แก่ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้หวัด ยาแก้ปวด เป็นต้น ซึ่งเป็นการยากที่ประชาชนทั่วไปจะทราบ ทำให้เกิดการกินยาซ้ำซ้อนโดยไม่รู้ตัว และหากระยะเวลานานเป็นเดือนก็จะเกิดการเป็นพิษต่อตับขึ้น ดังนั้นทางที่ดี ก่อนกินยาอะไรควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดเสียก่อน และหากไม่แน่ใจว่าเป็นยาอะไร เป็นยาสูตรผสมหรือไม่ ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

          การกินพาราเซตามอลร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า ไวน์ รัม ยีน หรือ เบียร์ เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง เพราะตัวแอลกอฮอล์เองเป็นที่ทราบกันดีว่าหากได้รับในปริมาณมาก หรือต่อเนื่องกันนานๆ ก็ทำให้เกิดภาวะตับแข็ง และตับวายได้ หากกินร่วมกับพาราเซตามอลก็จะเท่ากับเป็นการเร่งให้ตับเสียการทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงได้มีการออกกฎหมายให้มีการพิมพ์คำเตือนบนฉลากยาพาราเซตามอลว่า “ห้ามรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์” เนื่องจากเกิดคดีพิพากษาเกี่ยวกับการกินยาพาราเซตามอลร่วมกับไวน์เป็นประจำของชาวเวอร์จิเนียรายหนึ่งจนทำให้ตับวาย จนต้องมีการปลูกถ่ายตับใหม่

         การใช้ยาพาราเซตามอลอย่างปลอดภัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนต้องทราบ เนื่องจากยาพาราเซตามอลมีฤทธิ์ในการบรรเทาปวดเท่านั้น ไม่มีฤทธิ์ในการระงับการอักเสบ และไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งไข้หวัด หรืออาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ดังนั้นข้อสำคัญที่สุดในการใช้ยาพาราเซตามอลคือใช้เท่าที่จำเป็นในขนาดการรักษาปกติ กล่าวคือ สำหรับเด็ก (อายุต่ำกว่า 12 ปี) ให้รับประทานครั้งละ 10 - 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดศีรษะหรือมีไข้ แต่ไม่เกินวันละ 2.6 กรัม สำหรับผู้ใหญ่ให้รับประทานยาพาราเซตามอล 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ก็กินแค่ยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด ก็เพียงพอ) ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดศีรษะหรือมีไข้ แต่ไม่เกินวันละ 4 กรัม (ยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม 8 เม็ด) และหากไม่มีอาการแล้วก็ควรหยุดกินยาทันที หรือหากใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติม ส่วนผู้ป่วยโรคตับ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาพาราเซตามอล



          หากลืมรับประทานยาพาราเซตามอลควรทำอย่างไร คำตอบคือให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเวลาที่นึกได้ใกล้เคียงกับเวลารับประทานครั้งต่อไป ไม่ต้องรับประทานยาที่ลืมนั้น ให้รับประทานยาตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มเป็น 2 เท่า ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก และในที่ที่ไม่ถูกความร้อนหรือแสงโดยตรง ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความชื้น หากเป็นพาราเซตามอลชนิดน้ำควรเก็บในที่เย็น สำหรับยาที่หมดอายุแล้วไม่ควรเก็บไว้ หรือนำมาใช้อีก คำแนะนำพิเศษในการใช้ยาพาราเซตามอลที่ผู้เขียนอยากจะฝากถึงท่านผู้ฟังทุกท่าน มีดังนี้
          1. ในเด็กไม่ควรใช้ยานี้เกิน 5 วัน ส่วนในผู้ใหญ่ไม่ควรใช้ยานี้เกิน 10 วัน หากหลังจากนี้ยังมีอาการปวดอยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร 
          2. ในเด็กไม่ควรใช้ยานี้มากกว่า 5 ครั้งใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการใช้พาราเซตามอลเกินขนาด 
          3. ไม่ควรใช้ยานี้หากมีไข้สูง หรือมีไข้นานกว่า 3 วัน หรือเป็นไข้กลับซ้ำ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร 
          4. ก่อนใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วยในการแก้ปวดศีรษะ ลดไข้ ควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดก่อนว่า ไม่มีตัวยาพาราเซตามอลผสมอยู่ด้วยอีก เพื่อป้องกันการรับยาเกินขนาดปกติ


          มาถึงตรงนี้ ท่านคงตระหนักดีแล้วว่า ยาพาราเซตามอลไม่ใช่ยาที่ใช้รักษาได้สารพัดโรค การใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดเป็นอันตรายร้ายแรงที่สุดถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นจึงควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น ทางที่ดีหากมีอาการปวดไม่มาก ควรปล่อยให้หายเองจะดีกว่า แต่หากไม่หาย ควรใช้ยาปริมาณที่พอดีเท่านั้น และหากใช้ยาหลายวันแล้วก็ยังไม่หาย การไปพบแพทย์จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น